วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เทคนิคการสอนคำศัพท์

คำศัพท์
........ คำศัพท์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของภาษาทุกภาษา เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้เพื่อสื่อความหมายถึงความรู้สึกนึกคิด ความต้องการหรือความรู้ต่าง ๆ ในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การมีความรู้และความสามารถในการใช้คำศัพท์ของบุคคล ๆ หนึ่ง ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะบ่งบอกว่าบุคคลผู้นั้นสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด คำศัพท์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้และเพิ่มพูนอยู่เสมอ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ (Burns & Lowe. 1966 : 48 ; Taylor. 1990 : 1) และคำศัพท์ก็มีความสำคัญในลักษณะเดียวกันในการเรียนภาษาต่างประเทศ ซึ่งถ้าผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ในภาษาใหม่ไม่เพียงพอ ผู้เรียนก็จะประสบปัญหาในการสื่อความหมายและความต้องการของตนเองในการใช้ภาษาต่างประเทศ และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังได้อ่านที่นำเสนอเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการสื่อสาร คำศัพท์จึงเป็นสิ่งที่มิอาจจะละเลยได้ในกระบวนการเรียนการสอน (Huang. 1993 : 7 – 9)ในการสอนคำศัพท์วิชาภาษาอังกฤษให้ได้ผลนั้น ผู้สอนจะต้องทราบเทคนิคและวิธีสอนเป็นอย่างดี ซึ่งเทคนิคและวิธีสอนคำศัพท์ที่สำคัญ ๆ มีรายละเอียดดังหัวข้อต่อไปนี้ คือ
ประเภทของคำศัพท์
........ บำรุง โตรัตน์ (2535 : 10) , ศรีวัย สุวรรณกิตติ (2522 : 15) และ อัญชลี แจ่มเจริญ (2526 : 7) แบ่งประเภทของคำศัพท์ได้ 2 ชนิด ตามลักษณะของการใช้เป็นดังนี้ คือ
........ 1. คำศัพท์ที่ผู้เรียนในระดับนั้น ๆ ได้พบเห็นบ่อย ๆ ทั้งในการฟัง พูด อ่าน และเขียน (Active Vocabulary) นอกจากครูจะสอนให้รู้จักความหมายแล้ว จะต้องสอนให้นักเรียนสามารถใช้คำ ประโยค ได้ทั้งในการพูดและการเขียน ซึ่งถือว่าเป็นทักษะขั้นการนำไปใช้
........ 2. คำศัพท์ที่ผู้เรียนในระดับชั้นนั้น ๆ ไม่ค่อยพบเห็นหรือนาน ๆ จะปรากฏครั้งหนึ่งในการฟังและการอ่าน การสอนคำศัพท์ที่ผู้เรียนไม่ค่อยพบเห็นบ่อย ครูเพียงสอนแต่ให้รู้ความหมายที่ใช้ในประโยคก็เพียงพอ เน้นให้นักเรียนทั้งฟังและอ่านได้เข้าใจ โดยไม่เน้นให้นักเรียนเอาคำศัพท์นั้นมาใช้ในการพูดและเขียน

........ นอกจากนี้ ยังได้มีการแบ่งประเภทของคำศัพท์ตามโอกาสที่จะได้ใช้หรือได้พบใน แต่ละทักษะทางภาษา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท (นันทิยา แสงสิน. 2527 : 92) ดังนี้
1. คำศัพท์เพื่อการฟัง เป็นคำศัพท์ที่ใช้มากในเด็กเล็ก เพราะไม่เคยเรียนรู้ภาษามาก่อน เป็นคำศัพท์ที่ค่อนข้างง่าย และการเรียนรู้เกิดจากการฟังก่อน
........ 2. คำศัพท์เพื่อการพูด เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาพูด ซึ่งต้องสัมพันธ์กับการฟัง คำศัพท์ที่ใช้ในการพูดนั้นต้องสามารถใช้สื่อความหมายได้ โดยคำศัพท์เพื่อการพูดจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ คำศัพท์ที่ใช้ภายในบ้านหรือระหว่างเพื่อนฝูง คำศัพท์ที่ใช้ในการเรียนหรือการทำงาน และคำศัพท์ที่ใช้ในการติดต่อราชการ หรือใช้ในชีวิตประจำวัน

........ 3. คำศัพท์เพื่อการอ่าน เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการอ่านและเป็นปัญหามากสำหรับเด็กที่เรียนภาษา คือ ต้องรู้ความหมายเพื่อที่จะนำไปตีความเนื้อหา และข้อความที่อ่านได้

........ 4. คำศัพท์เพื่อการเขียน เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการเขียน ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่สูงและยาก เป็นคำศัพท์ที่ผู้เรียนจะต้องได้รับการสอนที่ถูกต้องและเป็นทางการ

........ การแบ่งคำศัพท์ออกเป็นประเภทตามลักษณะการใช้และตามโอกาสดังที่กล่าวมานี้ มีผลสำคัญต่อกี่จัดการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ สำหรับบทบาทของผู้สอนแล้ว ผู้สอนจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คำศัพท์ที่จำเป็นสำหรับการใช้ในโอกาสและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมะสม โดยในการช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คำศัพท์นั้น หมายถึง การช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์และเกิดพฤติกรรมดังนี้ คือ ออกเสียงและสะกดคำได้ บอกความหมายของคำศัพท์ได้ และสามารถนำคำศัพท์ที่รู้นั้นไปใช้ในการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนได้อย่างถูกต้อง (อิสรา สาระงาม. 2529 : 78 , 1981 : 76)




องค์ประกอบของคำศัพท์

........ ศิธร แสงธนู และ คิด พงศทัต (2521 : 35) กล่าวว่า องค์ประกอบที่สำคัญของคำศัพท์ มีดังนี้
........ 1. รูปคำ (Form) ได้แก่ รูปร่าง หรือการสะกดคำนั้น ๆ ถ้าจะกล่าวตามหลักของภาษาศาสตร์อย่างเคร่งครัดแล้ว คำ ๆ เดียวกัน ความหมายเดียวกัน อาจมีรูปร่างต่างกันก็ได้ เช่น is กับ ’s หรือ will not กับ won’t ในทางตรงกันข้าม man – men , walk – walked ก็มีความหมายแตกต่างกัน เพราะรูปร่างแตกต่างกัน เป็นต้น

........ 2. ความหมาย (Meaning) ได้แก่ ความหมายของคำนั้น ๆ จะมีความหมายที่แฝงอยู่ถึง 4 นัยด้วยกัน คือ

........ 2.1 ความหมายตามพจนานุกรม (Lexical Meaning) ได้แก่ ความหมายของคำตามพจนานุกรม สำหรับภาษาอังกฤษแล้ว คำหนึ่ง ๆ มีความหมายหลายอย่าง บางคำอาจใช้ในความหมายแตกต่างกันเป็นร้อย ทำให้บางคนเข้าใจว่า ความหมายที่แตกต่างออกไปหรือความหมายที่คนไม่ค่อยรู้จักนั้นเป็น “สำนวน” ของภาษาแตกต่างกันเป็นร้อย ทำให้บางคนเข้าใจว่า ความหมายแตกต่างออกไป หรือความหมายที่คนไม่ค่อยรู้จักนั้นเป็น “สำนวน” ของภาษา

........ 2.2 ความหมายทางไวยากรณ์ (Morphological Meaning) คำศัพท์ประเภทนี้ เมื่ออยู่ตามลำพังโดด ๆ อาจหาความหมายได้ง่าย เช่น s เมื่อต่อท้ายคำนามบางจำพวก เช่น hats , pens จะแสดงความหมายเป็นพหูพจน์ของนามนั้น ๆ คือ ช่วยบอกว่ามีจำนวน “มากกว่าหนึ่ง”
........ 2.3 ความหมายจากการเรียงคำ (Syntactic Meaning) ได้แก่ ความหมายที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป แล้วแต่การเรียงลำดับ เช่น boathouse แตกต่างจาก houseboat หรือ Is she going home ? แตกต่างจาก She is going home.

........ 2.4 ความหมายจากเสียงขึ้น – ลง (Intonation Meaning) ได้แก่ ความหมายของคำที่เปลี่ยนแปลงไปตามเสียงขึ้นลงของผู้พูดเปล่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่มีพยางค์เดียวหรือมากกว่า

........ 3. ขอบเขตของการใช้คำ (Distribution) ซึ่งมีข้อจำกัดแตกต่างกันไปแล้วแต่ไวยากรณ์ของภาษานั้น ๆ สำหรับภาษาอังกฤษจำแนกออกได้เป็น

........ 3.1 ขอบเขตด้านไวยากรณ์ เช่น ในภาษาอังกฤษการเรียงลำดับคำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉะนั้นตำแหน่งของคำในประโยคที่ต่างกันไป ทำให้คำนั้นมีความหมายแตกต่างกันออกไป

........ 3.2 ของเขตทางภาษาพูดและทางภาษาเขียน คำบางคำใช้ในภาษาพูดเท่านั้น ไม่ใช้ในภาษาเขียนเลย ทำนองเดียวกัน คำบางคำใช้ในภาษาเขียนโดยเฉพาะ หากนำมาพูดจะฟังแปร่งหู ผู้ฟังจะรู้ทันทีว่าผู้พูดไม่ใช่เจ้าของภาษา

........ นอกจากขอบเขตของการใช้คำแตกต่างกันไปดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการใช้คำที่แตกต่างกันแล้วแต่ท้องถิ่น เช่น การใช้คำที่แตกต่างกันระหว่าง British English กับ American English แม้แต่ภายในประเทศเดียวกัน ก็ยังมีภาษาถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งกว่านั้นในท้องถิ่นเดียวกัน ยังใช้คำหรือภาษาที่แตกต่างกัน แล้วแต่ระดับชั้นของบุคคล ก็ยังปรากฏอยู่เป็นเรื่องธรรมดา

เทคนิคในการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการเรียนการสอน ทั้งนี้เพราะหากเทคนิคการสอนไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนแล้ว การเรียนการสอนก็ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ เกี่ยวกับเทคนิคการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ศิธร แสงธนู และ คิด พงศทัต (2521 : 36 – 38) กล่าวไว้สรุปได้คือ

........ 1. คำศัพท์ที่สอนควรเป็นคำสั้น ๆ สะกดตรงตัว และเป็นคำที่มีเสียงคล้องจองกัน เช่น fan – man , rat - cat

........ 2. คำที่นำมาสอนควรเป็นคำที่เห็นได้จากใกล้ ๆ ตัวเด็กและเป็นรูปธรรม เช่น ของใช้

........ 3. หากเป็นการสอนรูปประโยคใหม่ ควรใช้คำศัพท์เก่า และควรใช้รูปประโยคเก่าในการสอนคำศัพท์ใหม่ จะทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่า

........ 4. ควรใช้อุปกรณ์พื้น ๆ เช่น ชอล์กและสีเมจิ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยการเน้นสิ่งที่ควรเน้น เมื่อเขียนบนกระดานหรือกระดาษ โดยเฉพาะสีแดง ควรใช้เน้นส่วนที่ต้องการเน้นจริง ๆ เท่านั้น

........ 5. เสียงที่ครูไม่แน่ใจ ไม่ควรนำมาสอน จนกว่าจะได้ตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน

........ 6. การจดคำศัพท์ ควรให้นักเรียนวาดภาพประกอบด้วย สร้างความเพลิดเพลินและช่วยทำให้เด็กจำได้มากกว่าเขียนคำแปลเป็นคำ ๆ

........ 7. การฝึกสะกดคำปากเปล่า คำที่มีหลายพยางค์ควรให้เด็กแยกพยางค์สะกด จะทำให้จำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น อาจเป็นการตบมือหรือเคาะจังหวะ เป็นต้น

........ 8. การทำแบบฝึกเสริม ควรมีภาพประกอบมาก ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก

........ 9. นักเรียนที่มีปัญหาในการออกเสียง ครูอาจทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติม ช่วยในการฝึกออกเสียงโดยเฉพาะ (Sound Drill) ฝึกออกเสียงคำเป็นคู่ ๆ

........ 10. การทำแผนการสอน ครูที่สอนชั้นเดียวกันควรร่วมมือกัน เพื่อจะได้กิจกรรมที่หลากหลาย

........ 11. การใช้ภาษาไทยในชั่วโมงภาษาอังกฤษ ครูน่าจะใช้เมื่อจำเป็น เช่น เมื่ออธิบายวิธีต่าง ๆ แล้วนักเรียนก็ไม่เข้าใจ

........ 12. ควรรู้จักสอดแทรกการแปลและไวยากรณ์ในกิจกรรมอย่างเหมาะสม โดยไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะการแปลและไวยากรณ์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และสำคัญสำหรับการเรียนภาษาต่างประเทศของเด็กไทย

การจัดกิจกรรมการสอนคำศัพท์

ในการจัดกิจกรรมการสอนคำศัพท์ อุทัย ภิรมย์รื่น (2524 : 24) เสงี่ยม โตรัตน์ (2534 : 27) และประนอม สุรัสวดี (2535 : 30) กล่าวไว้สรุปได้ว่า

........ 1. การสอนคำศัพท์ในระดับประถมศึกษา ไม่เน้นการให้นักเรียนรู้คำศัพท์มาก แต่จะเน้นการออกเสียงคำศัพท์ที่ถูกต้องมากกว่า

........ 2. การสอนคำศัพท์ในประโยคไม่เน้นโครงสร้างไวยากรณ์ของประโยค

........ 3. ไม่ควรสร้างคำศัพท์ในกลุ่มต่าง ๆ หลายคำ ในแต่ละครั้งของการสอนเกี่ยวกับ Family member นักเรียนควรจะรู้เกี่ยวกับ father , mother , sister หรือ brother ในบทที่ 1 ส่วนในบทที่ 2 จึงค่อยเรียน grandparents และต่อไปจะเรียน nephew , uncle , aunt และ cousin

........ 4. การสอนคำศัพท์แก่เด็ก ควรอาศัยสถานการณ์ประกอบ

........ 5. ในแต่ละชั่วโมง ควรสอนคำศัพท์ประมาณ 3 – 5 คำ และใช้คำศัพท์ใหม่ในโครงสร้างประโยคที่เรียนแล้ว

........ 6. การเลือกคำศัพท์มาใช้สอน ควรเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตจริงมากกว่า

........ 7. การเลือกคำศัพท์มาใช้สอน ควรเลือกคำที่สัมพันธ์กัน เช่น คำว่า cow น่าจะคู่กับ ox หรือ grass มากกว่าไปคู่กับคำว่า ship

........ 8. คำที่ใช้กับนักเรียนประถมต้น ควรจะเป็นคำที่มองเห็นภาพ สาธิตได้เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม

........ 9. การทบทวนคำศัพท์ที่เรียนไปแล้ว ควรทบทวนคำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กับคำศัพท์ใหม่

........ 10. ควรติดบัตรคำศัพท์ที่สอนไว้ในห้องสัก 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนตลอดเวลาจะได้จำได้ เพราะการที่นักเรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 4 ด้าน คือ ได้เห็น ได้ยิน ได้พูด และได้เขียน จะช่วยย้ำความจำได้แม่นยำขึ้น และควรจัดกิจกรรมให้มีการนำคำศัพท์นั้นมาใช้ในการสื่อสารสนทนาเสมอ ๆ

........ 11. การท่องคำศัพท์ เด็กเล็กไม่อยากปฏิบัติ เพราะน่าเบื่อ ควรให้นักเรียนจับคู่กันท่องคำศัพท์ เพราะจะทำให้ไม่เบื่อเหมือนท่องคำศัพท์คนเดียว

........ 12. การเขียนคำศัพท์ (Dictation) มีประโยชน์มาก จะช่วยย้ำความจำด้านสะกด ครูควรให้นักเรียนเขียนคำศัพท์อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ สัปดาห์ หรือประมาณเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย โดยกำหนดให้นักเรียนทบทวนมาล่วงหน้าว่าจะเป็นคำอะไรบ้าง การเขียนแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 20 คำ ควรมีการให้คะแนนสะสมด้วย อาจจะให้คะแนนแก่คนที่ทำ เพราะการเขียนคำศัพท์มีประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากการได้เขียนจะทำให้จำศัพท์แม่นยำกว่าการท่องปากเปล่า

........ 13. การแข่งขันระหว่างกลุ่มและทดสอบคำศัพท์ ควรแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้านานพอสมควร และกำหนดคำศัพท์ที่จะแข่ง เพราะจะทำให้เด็กมีกำลังใจท่อง

........ 14. การฝึกสะกดคำพร้อม ๆ กัน บางครั้งถ้าเป็นคำมากกว่า 1 พยางค์ ครูควรฝึกให้นักเรียนสะกดแยกทีละพยางค์เสียก่อน จะช่วยจำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น เช่น black – board , pen – cil เป็นต้น ขณะที่สะกดอาจให้นักเรียนปรบมือประกอบไปด้วยเมื่อออกเสียงแต่ละตัว หรืออาจจะปรบตามจำนวนพยางค์ เช่น eleven ให้ปรบมือ 3 ครั้ง

........ 15. การสอนคำศัพท์ขั้นแรก ครูไม่ควรเน้นการสะกด แต่ควรให้เด็กได้ทราบความหมายของคำโดยเร็วเสียก่อน อาจใช้วิธีดูภาพ ดูของจริง โดยทายจากการบอกใบ้ การแสดงท่าทางของครู เมื่อทราบความหมายแล้ว จึงให้ฝึกสะกดคำ เพราะการสะกดคำยากกว่าการจำความหมาย

........ 16. คำศัพท์ที่ปรากฏในหนังสือเรียน คำศัพท์ประเภทนี้จะปรากฏในบทอ่าน คำศัพท์ใด ๆ ที่ปรากฏซ้ำ ๆ และเป็นคำศัพท์ที่นักเรียนควรจะรู้และใช้เป็น ควรควรออกเสียงให้ถูกต้องทั้งความหมายและวิธีใช้คำนั้น ๆ อย่างถูกต้อง ส่วนคำศัพท์ที่ยากเกินไปสำหรับชั้นเรียน หรือคำศัพท์ที่ไม่ปรากฏในหนังสือเรียน ครูอาจจะสอนเฉพาะการออกเสียง และความหมาย แต่ไม่ต้องฝึกวิธีใช้

........ 17. คำศัพท์ที่มีประโยชน์ คำศัพท์ประเภทนี้นักเรียนควรจะรู้จัก อาจจะเป็นคำศัพท์ที่ไม่ปรากฏในหนังสือเรียน แต่จะต้องใช้ให้ถูกต้องในการพูดสนทนาหรือในการเขียน คำศัพท์ประเภทนี้จะต้องสอนวิธีใช้ให้ถูกต้อง

........ 18. ครูเป็นผู้ออกเสียงคำศัพท์โดด ๆ อย่างถูกต้องชัดเจน ให้นักเรียนฟังก่อน 2 – 3 ครั้ง แล้วจึงให้นักเรียนพูดตาม

........ 19. ครูให้ความหมายของคำศัพท์ด้วยการใช้อุปกรณ์หรือการแสดงท่าทางประกอบ

........ 20. ตรวจสอบว่านักเรียนเข้าใจความหมายของคำศัพท์ด้วยการตั้งคำถามแบบ Yes / No Question ให้นักเรียนตอบทั้งชั้นหรือให้คนใดคนหนึ่งเป็นคนตอบ

........ 21. ครูแสดงการใช้คำศัพท์ในรูปประโยคให้เด็กได้เห็น แล้วให้เด็กจดเอาไว้ในสมุด

........ 22. ครูให้เด็กคิดคำศัพท์หรือหัดแต่งประโยค โดยการใช้คำศัพท์นั้น ๆ ตามแบบที่เด็กเคยเห็นจากที่ครูเขียนให้ดูบนกระดาน

นอกจากนี้ บำรุง โตรัตน์ (2535 : 5 – 6) อัญชลี แจ่มเจริญ และคณะ (2526 : 8) ได้สรุปลำดับขั้นตอนของการสอนคำศัพท์ไว้ดังนี้

1. ขั้นสอนฟังและสอนความหมาย

2. ขั้นสอนพูดให้ออกเสียงได้ถูกต้อง

3. ขั้นสอนอ่าน ให้เห็นส่วนประกอบของคำ อ่านให้ฟังให้อ่านและสะกดคำพร้อมกัน

4. ขั้นสอนเขียน ให้เห็นภาพหรือได้ฟังคำนั้นและเขียนให้ถูกต้อง

5. ขั้นทดสอบความเข้าใจและฝึกให้นักเรียนใช้คำศัพท์

6. ให้นักเรียนจดคำศัพท์พร้อมความหมาย

จากขั้นตอนการสอนคำศัพท์ที่กล่าวมา สรุปการสอนคำศัพท์ได้ดังนี้

ขั้นที่ 1 ขั้นการสอนฟัง – พูด ความหมายของคำศัพท์และการออกเสียงที่ถูกต้องอาจจะมีกิจกรรมดังนี้ คือ เริ่มจากแนะนำคำศัพท์โดยการใช้สื่อประกอบ จากนั้นออกเสียงและให้นักเรียนออกเสียงเลียนเสียงอย่างถูกต้อง

ขั้นที่ 2 ขั้นการสอนอ่าน กิจกรรมในขั้นนี้อาจจะเป็นการจับคู่ภาพกับคำศัพท์ โดยใช้บัตรภาพและบัตรคำ สำหรับให้นักเรียนอ่าน

ขั้นที่ 3 ขั้นการสอนเขียนเริ่มจากการสอนตัวอักษรให้ออกเสียงและเขียนลีลาตัวอักษรในอากาศ จากนั้นเขียนตัวอักษรตามเส้นประ แล้วจึงคัดและบรรทุกลงในสมุด

ขั้นที่ 4 ขั้นการฝึกปฏิบัติกิจกรรม ในขั้นนี้เป็นการนำคำศัพท์ที่เรียนแล้วฝึกสนทนา

การเรียนรู้คำศัพท์อย่างมีความหมาย
การเรียนรู้ภาษาอย่างมีความหมาย คือ การจัดการเรียนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารที่ให้ความสำคัญกับความหมายของภาษาเป็นประการแรก คนที่เรียนภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศได้นั้น นอกจากจะต้องมีความตั้งใจจริงแล้ว เขาจะต้องเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง หรือได้เรียนด้วย ในการสอนนั้นข้อมูลที่จะให้กับนักเรียนจะต้องเป็นสิ่งที่นักเรียนรู้และเข้าใจ การให้นักเรียนฟังข้อความ คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่นักเรียนไม่เข้าใจ จะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดเลย ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องจัดเป็นสถานการณ์การเรียนรู้จริงหรือเหมือนจริงให้กับผู้เรียน และมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือฝึกปฏิบัติกิจกรรมกับเพื่อนได้ ซึ่งในการสอนคำศัพท์ก็เช่นเดียวกัน ครูจะต้องสร้างสถานการณ์ที่เป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษาจริง เพื่อนักเรียนจะเข้าใจถึงความหมาย และสามารถใช้คำศัพท์เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งได้ฝึกภาษาในสถานการณ์ที่มีโอกาสได้พบจริงในชีวิตประจำวัน (ทองจุล ขันขาว. 2532 : 26)
บทบาทของคำศัพท์ในการสอนภาษา
การเรียนการสอนภาษาจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่ออย่างยิ่ง หากครูผู้สอนดำเนินการสอนไปตามทฤษฎี หรือขั้นตอนการสอนที่กำหนดไว้ โดยมิได้สอดแทรกกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เพื่อให้บทเรียนมีชีวิตชีวาขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเห็นว่าผู้เรียนจะมีความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงชั่วระยะหนึ่ง แล้วผู้เรียนก็จะเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น ๆ สิ่งใหม่ ๆ มาทดแทน ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย อันจะเป็นผลเสียต่อ การเรียนรู้และเป็นการสร้างเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนภาษา การฝึกทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนก็ดี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการเรียนการสอนภาษา แม้ครูจะมีความรู้ดีมีประสบการณ์ และใช้อุปกรณ์ช่วยในการสอนมาสักเพียงใดก็ตาม ถ้าหากผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายเสีย แล้วการเรียนภาษาก็จะไม่บรรลุตาม จุดมุ่งหมายที่วางไว้
เป้าหมายของการสอนภาษา คือการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษในแต่ละบทเรียนรวมถึง ทักษะการพูดเพื่อให้เกิดความมั่นใจและความถูกต้อง ทักษะการฟัง ทักษะการเขียน และการอ่านและคำศัพท์ต่างๆ โดยเทคนิคการสอนแบบการกระตุ้น การให้มีส่วนร่วม และ การปฏิบัติสัมพันธ์ แม้ว่า หลักไวยากรณ์จะไม่ใช่สิ่งที่เน้นและเป็นเป้าหมายหลักของการสอน แต่ในการสอนจะมีการสอดแทรกหลักไวยากรณ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง
ส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษก็คือ การเรียนรู้คำศัพท์ ดังที่ Meara (1999) ได้เน้นถึงความสำคัญของเรื่องนี้เอาไว้ว่า “Vocabulary is beginning to occupy a central place in the way people learn a language. Learning words and their meanings and how they are used is increasingly seen as the key to learning a language, not just an annoying or irrelevant side activity.” (การเรียนรู้) คำศัพท์ได้เริ่มกลายเป็นจุดศูนย์กลางของวิธีที่ผู้คนเรียนรู้ภาษา การเรียนรู้คำ, ความหมายและการใช้คำ ได้รับการยอมรับสูงขึ้นในฐานะของการเรียนรู้ภาษา ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมประกอบที่น่ารำคาญหรือไม่เกี่ยวข้อง (กับการเรียนรู้ภาษา) ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า " ถ้าไม่มีความรู้ด้านไวยากรณ์ เราก็จะสื่อสารได้ไม่มากนัก แต่ถ้าไม่รู้คำศัพท์ เราก็ไม่สามารถจะสื่อความหมายได้เลย" ( Wilkins: 1977: 111 อ้างอิงโดย John 1986:20) กล่าวได้ว่า การที่ผู้เรียนจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนต้องมีความรู้ด้านไวยากรณ์และคำศัพท์อย่างสมดุลกัน เพื่อให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษน่าสนใจ ซึ่งการสอนคำศัพท์ ที่มีจุดหมายให้ผู้เรียนนำไปสื่อสารได้นั้น ผู้เรียนต้องมีความรู้ด้านคำศัพท์อย่างลึกซึ้งในเรื่องดังต่อไปนี้ การออกเสียง การสะกดคำ การใช้คำศัพท์ร่วมกับคำอื่น การจดจำได้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน การนำคำศัพท์ไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้ ถูกหลักไวยากรณ์ และเหมาะสมกับสถานการณ์ คำศัพท์ที่ควรนำมาสอนนั้น ควรเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จริงในชีวิต สอดคล้องกับ โสภิดา เสรีสุชาติ (2544 : 26) ที่กล่าวว่า คำศัพท์ที่ควรนำมานั้น ควรเป็นคำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์และความสนใจของผู้เรียน และผู้เรียนได้มีโอกาสนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นคำศัพท์ที่อยู่ในหนังสือเรียน สื่อการสอน ตัวผู้เรียน หรือครูผู้สอน นอกจากนี้ควรมีปริมาณคำศัพท์ที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนด้วย





เทคนิคการสอนคำศัพท์ให้เด็กๆ นั้น..

ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ เลย..

จำได้ตอนเด็กๆ.. นายข้าวเหนียวเรียนโรงเรียนบ้านนอก
ครูสอนคำว่า salt ครูจะเอาเกลือเป็นถุงๆ มาให้เราจับพร้อมทั้งฝึกออกเสียงตาม
ถือได้ว่าผมได้ครูดีตั้งแต่นั้นมา..

ครูบางคน.. หากคิดจะสอนศัพท์มันจะมีเทคนิคแตกต่างกันออกไป

แต่ที่น่ากลัวมากๆ คือ ครูที่สั่งให้เด็กคัดคำศัพท์หลายๆ รอบ แล้วไปท่องมาให้ได้
ใครท่องไม่ได้.. โดนดุ กันให้ขี้หดตดหาย..
เด็กๆ พาลเกลียดครู และภาษาอังกฤษไปเลย..

นายข้าวเหนียวไม่ได้เก่งการสอนนะแต่วิเคราะห์ว่า
การจะเรียนคำศัพท์ของเด็กนี่

ขั้นแรก ต้องให้เด็กมีอะไรในสมองของเขาเกี่ยวกับศัพท์คำนั้นก่อน
เช่น.. นำของจริงมาเลย (แล้วครู/นร.เล่าเรื่อง เกี่ยวกับสิ่งนั้น ยิ่งเรื่องตลก หรือเรื่องเกินจริงเด็กจะจำแม่น)
(ขั้นที่ 1 เด็กมีข้อมูลในสมองครับ)

ขั้นที่ 2 นักเรียนฟังเทปอาจารย์ฝรั่ง (มีภาพหรือของจริงประกอบ) (หรือเราจะออกเสียงเองก็ได้)
นักเรียนฟังหลายๆ รอบ ครูออกเสียงทั้งคำศัพท์ และประโยค หรือการแอคติ้งค์ประกอบคำของครู

ขั้นที่ 3 นักเรียนพูดตามบ่อยๆ ซ้ำๆ
โดยครูต้องมีเทคนิคการกระตุ้นการพูดทั้งชั้น รายกลุ่ม คู่ เดี่ยว อาจนำเกมมาช่วยเช่นเป่ายิงฉุบ
ใครชนะออกเสียงคำและได้คะแนน ฯลฯ

ขั้นที่ 4 นักเรียนฝึกอ่านคำ (มีภาพ/ของจริง บัตรคำ และออกเสียง)

ขั้นที่ 5 นักเรียนฝึกการเขียน
พอถึงขั้นนี้ คุณครูอย่าสั่งให้เด็กคัดคำละ 10 ครั้ง แล้วถือว่าเป็นการฝึกเขียนนะครับ

แนวทางการสอนเขียนเช่น a book
เด็กๆ ต้องรู้จักเสียง b ก่อน
พาเด็กออกเสีย b - เบอะ หลายๆ หน
ต่อไป k - เคอะ หลายๆ หน
oo - ออกเสียง อุ (มันเทียบภาษาไทยไม่ตรงหรอกนะคับ)
เด็กๆ รวมเสียง b - oo - k เบอะ อุ เคอะ บุกคึ (คึนิดๆ)

นี่เป็นกระบวนการสอนเขียน โดยใช้เสียงเป็นสำคัญนะครับ
ท่านอื่นอาจมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งก็ถูกต้องด้วยกันทั้งสิ้น

ขั้นที่ 6 ขั้นนี้สำคัญ ครูจะเอาไปแทรกไว้ในขั้นที่ 3 หรือ แทรกทุกขั้นก็ได้ครับ

ศัพท์ คือ เสียงและอักษร แทนสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นต้องอยู่ในประโยค
หรือต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง

ดังนั้นต้องฝึกให้เด็กพูด เช่น
- I have a book.
- She has a book.
- He has three books.


ครูอาจถามว่า
- Do you have a book? (Do you have any books?)
- How many books do you have?
- What color is your book?
- Which book do you like best?

ขั้นที่ 7 สร้างสรร เสริมสร้าง สังเคราะห์ผลงาน
(เป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รุ้จักวางแผนการทำงาน ฝึกความคิดสร้างสรร)
ครูกระตุ้นให้นักเรียนสร้างสรรผลงานเช่น
- แสดงบทบาทสมมติ / ละครแฟนตาซี ฯลฯ
- ให้นักเรียนแต่งนิทานภาพเกี่ยวกับ a book พร้อมเขียนคำบรรยายเล็กน้อย
- ฯลฯ

ขั้นที่ 8 นำเสนอผลงาน ครูและเพื่อนร่วมชื่นชม
(เป็นการสร้างให้เด็กเรียนรู้เรื่องการยอมรับคุณค่าของตัวเอง ว่าเราทำได้
เราเก่ง สร้างให้เด็กมั่นใจ กล้าแสดงออก)
- ให้เด็กได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน
- พร้อมทั้งจัดป้ายนิเทศก์ ในชั้นเรียน หรือที่อื่นๆ
- ครูและเพื่อนๆ ร่วมชื่นชม

ครูประเมินผลงานนักเรียนให้คะแนนไปได้เลยครับ ไม่ต้องมานั่งออกข้อสอบประจำบท
ให้เสียเวลา...

ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ครบถ้วนตรงตามหลักสูตร
เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข และจะรักภาษาอังกฤษและกล้าพูด
เพราะเด็กได้รับโอกาสในการพูด
เด็กถูกครูใช้เทคนิคหลอกล่อให้เรียนรู้โดยไม่รู้ตัวว่านั้นคือการเรียน
ครูก็สนุกนักเรียนก็มีความสุข

เทคนิควิธีสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
จากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ สามารถสรุปได้ว่า คำศัพท์ภาษาอังกฤษมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ รูปคำ ความหมาย และขอบเขตในการใช้ การสอนคำศัพท์ระดับประถมศึกษานั้น จะไม่เน้นที่จำนวนคำ แต่จะสอนให้นักเรียนออกเสียงได้ถูกต้อง การสอนควรเป็นคำที่มีเสียงคล้องจองกัน ในการสอนแต่ละครั้งควรสอนคำศัพท์ประมาณ 3 – 5 คำ โดยจะเริ่มสอนจากความหมายก่อน จากนั้นจึงสอนการฟัง – พูด การอ่าน การเขียน และการนำไปใช้ เมื่อสอนเสร็จแต่ละครั้ง ครูควรติดบัตรคำที่สอนให้นักเรียนได้เห็น อย่างน้อย 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวน นอกจากนี้ควรให้นักเรียนได้เขียนคำศัพท์ตามคำบอก จะช่วยย้ำความจำศัพท์ด้วย
เทคนิคการสอน ที่ GTB FT2M สำหรับวิชาภาษาอังกฤษ เอกลักษณ์ของเราคือ วิธีการสอนแบบ GTB (GTB'S METHODS)
F - Forthright Grammar
สอนไวยากรณ์ที่จำเป็น และเป็นพื้นฐานต่อการเรียนในคอร์สต่างๆ โดยเน้นการฝึกฝนแบบ real-time ให้เกิดความเข้าใจและสามารถสร้างรูปประโยคได้อย่างเป็นธรรมชาติ เทคนิคในการสอนแบบนี้จะเน้นการอธิบายควบคู่กันไปกับการทำแบบฝึกหัด โดยครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นโค้ช คอยดูแลและชี้แนะ แก้ไขอย่างใกล้ชิด และเป็นกันเอง
T - The Trainer
ระบบการสอนที่ใช้แล้วได้ผลดีกับนักเรียนแทบทุกคน โดยครูผู้่สอนนอกจากจะทำหน้าที่ในการสอนแล้วยังทำหน้าที่เป็นโค้ชภาษาอังกฤษ ที่คอยวางแผนการเรียนและเสริมจุดที่ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงของนักเรียนแต่ละคน โดยในความเป็นโค้ชนี้ ครูผู้สอนย่อมมีโอกาสมากกว่าที่จะส่งเสริมและสร้างทัศนคติที่ดี ต่อการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนแต่ละคน


M - Magical looking
เทคนิคนี้ใช้ในการอ่าน ที่จะทำให้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องรู้ศัพท์หมดทุกตัว แต่ก็สามารถอ่านเรื่องได้เข้าใจ หรืออย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้ทำข้อสอบ Reading ได้มากกว่าร้อยละ 70 เทคนิคนี้ใช้ได้ผลดีมาแล้วกว่า 6 ปี นับแต่คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นมา (เทคนิคนี้แม้แต่เด็กอักษรฯ หลายๆ คนก็ยังต้องทึ่ง)
M - Master of vocabulary
เทคนิคในการสร้างความจำระยะยาว (long term memory) แก่ผู้เรียน โดยใช้เทคนิคในการสร้างรูปแบบการจำต่างๆ มากกว่าสิบรูปแบบ ที่จะทำให้การท่องศัพท์ไม่เป็นเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
สรุปหลักการสอนของ GTB
โดยหลักแล้ว คือ อ่อนตรงไหน เสริมตรงนั้น นักเรียนทุกคนจะได้รับการดูแล และประเมินพื้นฐานภาษาอังกฤษของตนเองว่าอยู่ตรงไหน แล้วจัดเนื้อหาที่เรียนให้เหมาะกับแต่ละคน และเน้นเนื้อหาเฉพาะที่จะสอบในแต่ละโรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน
ทางสถาบันฯ จัดชั้นเรียนแบบเฉพาะเจาะจง อ่อนตรงไหนเสริมตรงไหน จำเป็นตรงไหน เสริมตรงนั้น นักเรียนจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเรียนไม่รู้เรื่อง เรียนไม่ทันเพื่อน หรือเรียนแ้ล้วไม่ตรงกับเนื้อหาที่จะนำไปใช้หรือนำไปสอบ
ก่อนเข้าเรียน ครูและนักเรียนจะมีการพูดคุยกันก่อน ว่าเป้าหมายในการเรียนเป็นไปเพื่ออะไร และเนื้อหาไหนบ้าง ที่เรียนแล้วจะออกสอบ และที่โรงเรียนของนักเรียนจะออกสอบเรื่องไหนบ้าง ทางสถาบันจะให้เนื้อหาต่างๆ โดยที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ และรวดเร็ว ผนวกกับการฝึกฝนซ้ำๆ อีกหลายๆ ข้อ ภายใต้ความดูแลของครูผู้สอนตลอดเวลา อาทิเช่น จะสอบเรื่อง Tense และ Passive Voice ทางสถาบันก็จะสอนเรื่อง Tense และ Passive Voice ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และจำเป็นสำหรับนักเรียนแต่ละคน โดยเน้น กระชับ ฉับไว ตรงประเด็น สนุกสนาน และผ่อนคลาย
ต่อจากนั้นเมื่อนักเรียนมีความเข้าใจบ้างแล้ว ก็จะเข้าสู่การฝึกฝน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ โดยทางสถาบันมีตำราชั้นดีกว่า 100 เล่ม (บางสถาบันใช้ตำราเล่มเดียวในการสอนทั้งเทอม) ที่จะคัดสรรมาให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน ดังนั้นจึงหมายความว่า เรามีแบบฝึกหัด และโจทย์ในแต่ละเรื่องมากกว่า 1,000 ข้อ และ 1,000 ตัวอย่าง ที่จะทำให้นักเรียนของเราได้ฝึกฝนภายใต้ความดูแลอันใกล้ชิดของครูผู้สอน
เนื่องจากหัวใจสำคัญของการเก่งภาษาอังกฤษไม่ได้อยู่เพียงแค่การสอนดีของครู ค่าเรียนที่แพงๆ หรือการสอนแบบเร้าใจเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจของการเก่งภาษาอังกฤษอยู่ที่การฝึกฝนอย่างถูกต้อง และเป็นระบบซึ่งระบบที่ทางสถาบันของเราได้ออกแบบมานั้น พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลกับนักเรียนทุกๆ คน
ผลงานของเราที่ร่วมสร้างสรรค์กับนักเรียน (GTB Gang)
1. สอบผ่านเกณฑ์ CU-TEP เข้าศึกษาต่อปริญญาโท ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. นักเรียนของเราสามารถสอบเข้าร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1
3. คะแนนภาษาอังกฤษในการสอบปลายภาคที่โรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในทุกระดับ
4. ในปีการศึกษา 2551 นักเรียนของเราทุกคนที่เรียนคอร์ส Admission มากกว่า 5 เดือนขึ้นไปสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐได้ โดยคะแนนภาษาอังกฤษเกินกว่าร้อยละ 55 ทุกคน
5. นักเรียนของเราสามารถสอบเข้าหลักสูตรความเป็นเลิศทางภาษาอังกฤษ ร.ร.สวนกุหลาบฯ นนทบุรี ได้ (รับเพียงแค่ 40 คน)
6. นอกจากนี้ยังมีผลงานการสอบเข้าและผลการเรียนภาษาอังกฤษที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากนักเรียนหลายๆ คนที่เรียนกับเรา
ทางสถาบันไม่เพียงแค่ยึดถือเทคนิคการสอนเฉพาะตัวของ GTB ไว้เท่านั้น หากแต่เราเชื่อว่า ยังมีรูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพต่างๆ ที่จะรอการค้นพบ เพื่อทำให้นักเรียนของเราเก่งภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน
เนื่องจากเราไม่ได้เพียงแค่สอน "ภาษาอังกฤษ" หากแต่เราสอน "คน" ให้เก่งภาษาอังกฤษ

เกมฝึกคำศัพท์สำหรับพัฒนาผู้เรียน

การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันเป็นแนวการสอนเพื่อการสื่อสาร (Communicative Approach) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างและการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้านให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ได้แก่ ทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร ซึ่งในการเรียนการสอนนั้นความรู้เรื่องคำศัพท์มีความสัมพันธ์กับทักษะทั้ง 4 ด้าน และการที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ได้ดีนั้น ผู้เรียนที่รู้คำศัพท์มาก จำได้แม่น สามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ย่อมเรียนได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของเสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ (2531 : 84) ที่กล่าวว่า ในการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ สิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้คำศัพท์ยังมีความสำคัญและความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการฟัง การพูดและการเขียนด้วย ในด้านการฟังและการพูด ถ้านักเรียนไม่เข้าใจความหมายของคำศัพท์ ฟังไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ ใช้คำผิดความหมาย ทำให้การสื่อสารไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนทางด้านการเขียนนั้นนักเรียนจะเขียนสะกดคำไม่ถูก และเขียนไม่ได้ความชัดเจน กล่าวคือ ถ้านักเรียนไม่มีความแม่นยำหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์แล้ว นักเรียนจะเรียนภาษาให้ได้ดีทั้งการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนได้ยาก
ความรู้เรื่องคำศัพท์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนภาษา ดังที่ดวงเดือน แสงชัย (2539 : 118) กล่าวว่า ถ้านักเรียนคนใดมีพัฒนาการทางภาษาดีมาตั้งแต่เด็ก คือ รู้ศัพท์มากพอเหมาะกับวัยของตนสามารถนำคำศัพท์ไปใช้อย่างถูกต้อง นักเรียนคนนั้นจะเข้าใจความคิดของคนอื่น และสิ่งแวดล้อมจนสามารถสื่อความหมาย หรือแสดงความต้องการของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับวรรณพร ศิลาขาว (2538 : 21) ที่กล่าวว่า การสอนคำศัพท์มีความจำเป็นมากในการเรียนรู้ภาษา เพราะคำศัพท์จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน ทั้งนี้เป็นเพราะคำศัพท์เป็นหน่วยหนึ่งในโครงสร้างของภาษาที่เป็นพื้นฐานของการเรียนภาษาที่ผู้เรียนจะนำมาสร้างเป็นวลี หรือประโยคในการพูดหรือเขียน และการฟังหรืออ่านนั้นคำศัพท์จะเป็นส่วนประกอบของข้อความที่สื่อสาร
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่สอนภาษาอังกฤษในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 รวมเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร พบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีผลการเรียนอยู่ในระดับปานกลางและอ่อน เมื่อจัดกิจกรรมทางด้านภาษาในทักษะต่าง ๆ เช่น การฟัง พูด อ่าน และเขียน นักเรียนไม่สามารถทำงานหรือกิจกรรมทางด้านภาษาที่ได้รับมอบหมายไว้ได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากนักเรียนมีความรู้ในเรื่องของคำศัพท์น้อยไป นอกจากนี้นักเรียนยังขาดความกระตือรือร้นในการเรียนภาษาและไม่มีความมั่นใจการใช้ภาษาเท่าที่ควร แต่เมื่อผู้วิจัยใช้เกมทางภาษาเข้ามาแทรกบทเรียนในชั่วโมงใด พบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้นให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมและเรียนด้วยความสนุกสนานมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่อรุณี วิริยะจิตรา (2532 : 172) กล่าวว่า เกมเป็นวิธีการฝึกภาษาที่ใช้ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้เรียนจะมีความสนุกในการเรียน และทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการใช้ภาษา นอกจากนี้สุมาลี กีรติพงษ์ (2534 : 37) ได้กล่าวได้ว่า การเล่นเกมทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้น เกิดความสนุกสนานและช่วยเสริมการเรียนรู้ในเรื่องของคำศัพท์ได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ นอกจากนี้การที่นักเรียนจดจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้อย่างแม่นยำ และมีความคงทนในการจำคำศัพท์ เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างดีซึ่งสอดคล้องกับที่วรรณพร ศิลาขาว (2538 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์และความคงทนในการเรียนรู้คำศัพท์วิชาภาษาอังกฤษระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่มีเกมและไม่มีเกมประกอบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2538 ของโรงเรียนวัดทรัพย์สโมสร กรุงเทพมหานคร จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 1 ห้องเรียนจำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุม 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่มีเกมประกอบ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่ไม่มีเกมประกอบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จะเห็นได้ว่าการใช้เกมส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวผู้เขียนจึงสนใจที่จะศึกษาการสร้างผลการใช้เกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร


วัตถุประสงค์ของการสร้างและใช้เกมฝึกคำศัพท์
1. เพื่อสร้างเกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร
2. เพื่อศึกษาผลการใช้เกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร
3. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คำศัพท์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ที่ใช้เกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

วิธีดำเนินการสร้างและใช้เกมฝึกคำศัพท์
ผู้เขียนได้ดำเนินการสร้างและใช้เกมฝึกคำศัพท์ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องมือให้เป็นที่เรียบร้อยดังต่อไปนี้
1. เกมฝึกคำศัพท์ ใช้ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานครจำนวน จำนวน 10 เกม และแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จำนวน 10 แผน สอนสัปดาห์ละ 3 คาบ ๆ ละ 60 นาที จำนวน 10 คาบ
2. ข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คำศัพท์ก่อนเรียน และหลังเรียน เพื่อเปรียบเทียบดูพัฒนาการการเรียนรู้คำศัพท์

การนำเกมฝึกคำศัพท์ไปทดลองใช้
ผู้เขียนได้นำข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คำศัพท์ก่อนเรียน จำนวน 30 ข้อ สอบเก็บคะแนนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 34 คน เพื่อเปรียบเทียบคะแนนหลังจากใช้เกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จำนวน 10 เกม ดังนี้ 1. เกมภาพปริศนา 2. เกมวงล้อคำศัพท์ 3. เกมกล่องปริศนา 4. เกมบัตรคำหาคู่ 5. เกมรถไฟหาคู่ 6. เกมเรียงร้อยคำศัพท์กับหม้อหรรษา 7. เกมเปิดผอบพบคำศัพท์ 8. เกมไข่นำโชค 9. เกมกลิ้งลูกเต๋า 10. เกมจ่ายตลาด

ผลการใช้เกมฝึกคำศัพท์
หลังการใช้เกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนวัดไทร สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 34 คน ปรากฏผลดังนี้คือ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คำศัพท์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสูงขึ้น เพราะผู้เรียนมีคะแนนสอบหลังการใช้เกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ พัฒนาสูงขึ้นกว่าคะแนนสอบก่อนการใช้เกมฝึกคำศัพท์

ประโยชน์การใช้เกมฝึกคำศัพท์
1. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนภาษาอังกฤษในการใช้เกมฝึกคำศัพท์ประกอบแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คำศัพท์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
2. เป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะขณะที่ผู้เรียนปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดให้ ผู้เรียนทุกคนให้ความร่วมมือ กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง สนองความต้องการของผู้เรียน
3. ผู้เรียนเรียนรู้อย่างสนุกสนาน มีความตื่นตัว กระตือรือร้นกับการเรียนรู้ตลอดเวลา

ข้อเสนอแนะ
1. ในการใช้เกมฝึกคำศัพท์นั้น ครูผู้สอนควรชี้แจงกับผู้เรียนถึงจุดมุ่งหมายของการเล่นเกมว่า เป็นการฝึกคำศัพท์โดยใช้กิจกรรมเกมเข้ามาประกอบเพื่อเป็นการทบทวนคำศัพท์และทำให้ผู้เรียนจำคำศัพท์ได้ เพราะบางครั้งผู้เรียนไม่เข้าใจและมุ่งหวังที่จะแข่งขันกับเพื่อนเพื่อเอาชัยชนะมากกว่า จนบางครั้งลืมตัวส่งเสียงดัง เพื่อเชียร์เพื่อนของตนเองจนรบกวนห้องข้างเคียง
2. ในการแบ่งกลุ่มเล่นเกม ควรใช้วิธีการแบ่งกลุ่มที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนได้เปลี่ยนกลุ่มในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ช่วยเหลือกันมากยิ่งขึ้น
3. ครูผู้สอนควรใช้เกมฝึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยคัดเลือกเกมที่มีประโยชน์และนำมาแทรกในขั้นตอนต่าง ๆ ของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยอาจทำแบบฝึกหัดทบทวนให้กับผู้เรียนหลังการสอน เพื่อช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น ครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเกมที่ชอบมาประกอบการสอนบ้าง จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในด้านการเรียนการสอน

flash cards

การใช้ flash cards เป็นการฝึกทบทวนคำศัพท์ที่มีความสนุกสนาน นักเรียนจะมีความกระตือรือล้นในการเรียน สามารถใช้ได้ทุกระดับชั้น ขื้นอยู่กับความยาก ง่ายของระดับชั้น จะเป็นศัพท์ หรือวลีก็ได้ แล้วแต่จุดประสงค์ของครูว่าต้องการจะทบทวนคำศัพท์ระดับใด กิจกรรมนอกเหนือจากนั้นอาจเป็นการนำคำศัพท์ที่ทบทวนมาแต่งเป็นประโยค หรือเรื่องก็ขึ้นอยุ่กับความต้องการของผู้สอน ใช้แล้วได้ผลดีครับ การทำไม่ยาก ใช้กระดาษเขียนบัตรคำธรรมดา หรือกระดาษชาร์ทสีก็ได้ เขี่ยนคำศัพท์แล้วพลิกด้านตรงข้ามเขียนศัพท์เพื่อเป็นความสะดวกว่าด้านตรงข้ามเราให้นักเรียนอ่านคำใดเพื่อความรวดเร็ว สนุกสนาน

เมื่อเด็กเบื่อการท่องคำศัพท์ ลองหาวิธีอื่นกันดู
จากประสบการณ์การสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 - 2 เคยทดลองมาหลายวิธีตั้งแต่งวิธีเดิมๆ คือ ให้ท่องจำแล้วมาเขียนตามคำบอก เด็กเครียดมาก ผู้เขียนเองก็เคยเครียดเมื่อตอนสมัยเป็นนักเรียน เป็นครูก็เครียดเมื่อนักเรียนเขียนไม่ได้เลย พยายามอ่านหนังสือบ้าง ทดลองตามประสบการณ์บ้าง ขณะนี้กำลังใช้วิธีใหม่ที่ค้นพบจากประสบการณ์ คือ
ขั้นที่หนึ่ง ครูบอกคำแปลเป็นภาษาไทย แล้วให้นักเรียนเขียนคำภาษาอังกฤษ
บนกระดาน โดยให้ดูจากสมุดคำศัพท์ได้
ขั้นที่สอง ครูบอกคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ให้นักเรียนเขียนบนกระดาน โดยให้ดูจากสมุดคำศัพท์ได้
ขั้นที่สาม ครูบอกคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ให้นักเรียนเขียนบนกระดาน ไม่ให้ดูจากสมุดคำศัพท์ แต่หากจำไม่ได้ อนุญาตให้ดูได้บ้าง
ขั้นที่สี่ ครูเขียนคำศัพท์ ลบอักษรออกบางตัว ให้นักเรียนเติม
จากที่ทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 5 สามารถพัฒนาขึ้นได้ส่วนหนึ่ง หากท่านใดมีประสบการณ์อย่างไร สามารถแบ่งปันเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่นได้ที่การแสดงความคิดเห็นนะคะ

1 ความคิดเห็น: